top of page

วิธีปฏิบัติเพื่อการป้องกันควบคุมโรค


วิธีปฏิบัติเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคและฟื้นฟูสุขภาพด้วยเทคนิคการดูแลสุขภาพแบบผสมผสานเพื่อการพึ่งตน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผู้ป่วย

มะเร็ง เนื้องอก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ ไตเสื่อม ภูมิแพ้

ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดบวมแดงร้อนตามร่างกาย และผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานน้อย

จัดทำโดย. งานควบคุมโรค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลอำนาจเจริญ

ร่วมกับ

ฐานงานสุขภาพบุญนิยม ศูนย์ฝึกอบรมคุณธรรมกสิกรรมไร้สารพิษ สวนส่างฝัน จังหวัดอำนาจเจริญ

1. ดื่มน้ำสมุนไพร คลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ วิธีทำ ใช้ สมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น ใบย่านางเขียว 5-20 ใบ ใบเตย 1-3 ใบ บัวบก ครึ่ง-1 กำมือ หญ้าปักกิ่ง 3-5 ต้น ใบอ่อมแซ๊บ(เบญจรงค์) ครึ่ง-1 กำมือ ผักบุ้ง ครึ่ง-1 กำมือ ใบเสลดพังพอน ครึ่ง-1 กำมือ และว่านกาบหอย 3-5 ใบ เป็นต้น จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ โขลกให้ละเอียดหรือขยี้ ผสมกับน้ำเปล่า 1-3 แก้ว กรองผ่านกระชอน เอาน้ำที่ได้มาดื่ม ครั้งละ ครึ่ง-1 แก้ว วันละ2-3 ครั้ง ก่อนอาหาร

2. รับประทานอาหารปรับสมดุลร่างกาย ดังนี้

2.1 เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัด และโปรตีนจากถั่วหรือปลา(สำหรับผู้ที่ไม่สามารถงดเนื้อสัตว์)

2.2 ควรปรุงอาหารด้วยการต้มหรือนึ่ง ปรุงรสไม่จัดจนเกินไป ถ้าเป็นไปได้ ควรปรุงรส อยู่ในระดับ 10-30 % ของที่เคยปรุง หรือถ้าผู้ที่ติดรสจัดมาก ก็ค่อยๆลดรสจัดของอาหารลง ให้มากที่สุด เท่าที่จะพอรับประทานได้โดยไม่ลำบากนัก

2.3 งดหรือลดการรับประทานอาหารที่หวานจัด เช่น ของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ผลไม้หรือน้ำผลไม้ที่หวานจัด อาหารที่เค็มจัด เช่น ปลาร้า ผักดอง เนื้อเค็ม ไข่เค็ม อาหารที่ปรุงเค็มมากและอาหารที่มีผงชูรสมาก(มีการวิจัยพบว่า อาหารที่มีโซเดียมมากเกิน เค็มจัดหรือมีผงชูรสมาก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจโต น้ำหนักเพิ่ม ไตเสื่อม ภูมิต้านทานลด และรหัสพันธุกรรมผิดปกติ) อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารผัดทอด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ได้แก่ เนื้อหมู วัว ควาย ไก่พันธุ์เนื้อ เป็นต้น และอาหารที่ปรุงรสจัด

2.4 ในมื้อหลัก ฝึกรับประทานอาหารตามลำดับ ดังนี้ ลำดับที่ 1 รับประทาน ผลไม้ ฤทธิ์เย็น เช่น กล้วยน้ำว้า กระท้อน ชมพู่ ส้มโอ มังคุด มะยม แตง สับปะรด มะม่วงดิบ มะขามดิบ มะละกอห่าม เป็นต้น โดยรับประทานเท่าที่รู้สึกสดชื่นสบาย ถ้าเป็นผลไม้หวานให้รับประทานเพียงเล็กน้อย ควรงดหรือลดผลไม้ฤทธิ์ร้อน เช่น ทุเรียน ขนุนสุก มะม่วงสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ยอ กล้วยไข่ กล้วยหอม มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง น้อยหน่า กระทกรก เป็นต้น ลำดับที่ 2 รับประทานผักฤทธิ์เย็น เช่น อ่อมแซบ ผักบุ้ง แตง หวานบ้าน ก้านตรง กวางตุ้ง ผักกาดหอม(สลัด) ผักกาดขาว ถั่วงอก สายบัว หญ้าปักกิ่ง ลิ้นปี่ บัวบก ผักแว่น เสลดพังพอน ผักกาดขาว มะเขือ เป็นต้น อาจรับประทาน กับส้มตำหรือน้ำพริก ที่ปรุงรสไม่จัด (ปรุงรสด้วยเกลือหรือซีอิ้วขาว จะดีกว่าน้ำปลาหรือปลาร้า ถ้าใช้เกลือปรุงอย่างเดียวจะดีที่สุด) ควรรับประทานจนมีความรู้สึกว่าเริ่มฝืดคอ ฝืดลิ้นหรือฝืดฟัน จึงหยุด ควรงดหรือลดผักฤทธิ์ร้อน เช่น ผักรสเผ็ดร้อน ชะอม คะน้า กะหล่ำปลี แครอท บีทรูด ถั่วฝักยาว ผักโขม ฟักทองแก่ ถั่วฝักยาว ถั่วพู หน่อไม้ สาหร่าย ไข่น้ำ เป็นต้น ลำดับที่ 3 รับประทานข้าวจ้าวพร้อมกับข้าว โดยเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือก็ยิ่งดี กับข้าวควรใช้ผักฤทธิ์เย็น เป็นหลักในการปรุง เช่น บวบ ตำลึง ฟัก แฟง แตงต่างๆ หยวกกล้วย ปลีกล้วย ก้านกล้วย ฟักทองอ่อน ยอดหรือดอกฟักทอง และผักฤทธิ์เย็นที่กล่าวมาข้างต้น อาจปรุงเป็น ยำผัก ก้อยผัก ผักลวก แกงจืด แกงอ่อม เป็นต้น สำหรับคนที่รับประทานเห็ดและเต้าหู้ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาจใช้ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดลม(เห็ดบด) เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนูหรือเต้าหู้แผ่น เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร ลำดับที่ 4 รับประทาน ถั่วเขียวต้ม โดย แช่ถั่ว 4 - 12 ชั่วโมง นำถั่วที่แช่แล้ว 1 ส่วน เติมน้ำ 3 เท่า ต้มไฟอ่อนถึงปานกลาง ต้มแค่พอสุก (อย่าให้เปื่อย) อาจเติมเกลือหรือน้ำตาลเล็กน้อย แค่พอรับประทานง่าย สำหรับคนที่รับประทานเต้าหู้ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาจดื่มนมถั่วเหลืองปิดท้ายลำดับอาหารด้วยก็ได้

สำหรับมื้อเย็น รับประทานผักลวกจิ้มเกลือหรือจิ้มน้ำพริกที่ไม่รสจัดหรือจิ้มซีอิ้วมะนาว กับข้าวสวยหรือข้าวต้ม

วิธีทำข้าวต้มเพื่อสุขภาพ มีเทคนิคคือ ใช้ข้าวจ้าว 1 ส่วน ต้มกับน้ำ 7 ส่วน ใช้ไฟกลางๆ ต้มแค่พอสุกอย่าให้เปื่อย

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง พยายามรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน

4.ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ

5.ใช้ธรรมะ ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายความเครียด ลด ละ เลิกและหลีกเลี่ยง อารมณ์ที่ทำลายสุขภาพ ได้แก่ เครียดเกิน โลภเกิน ยึดเกิน โกรธ มุ่งร้าย พยาบาท เอาแต่ใจตัวเอง เร่งรีบ เป็นต้น

6.อาจใช้การเอาพิษภัยออกจากร่างกาย ตามแนวแพทย์ทางเลือก ช่วยเสริมเติมเต็มกับการรักษาที่ใช้อยู่เดิม เช่น

6.1การขูดซาหรือกัวซา(การแพทย์พื้นบ้านดั้งเดิมของชาวจีน ชาวเขาและชาวกัมพูชา) เป็นการขูดพิษออกจากร่างกาย ทางผิวหนัง โดยใช้ ขี้ผึ้งแก้หวัด ขี้ผึ้งเสลดพังพอน ยาหม่องดำ น้ำมันพืชหรือน้ำเปล่า โดยใช้อย่างใดอย่าง-หนึ่ง ทาบริเวณที่รู้สึกไม่สบาย แล้วใช้ช้อนหรือเหรียญ 10 บาท ขูดบริเวณนั้น ให้ลงน้ำหนักเท่าที่จะไม่เจ็บ ขูดจนมีสีแดงขึ้นมาตามผิวหนังเต็มที่จนไม่แดงไปกว่านั้นหรือจนกว่าอาการไม่สบายทุเลาลง จึงหยุดขูด ทำ 1-3วันต่อครั้ง

6.2 การแช่เท้าในน้ำสมุนไพร โดยใช้ ใบเตย 1-3 ใบหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็น ครึ่ง-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ขัน(ประมาณ 1 ลิตร) เดือด ประมาณ 5 นาที แล้วผสมน้ำธรรมดาให้อุ่น แช่เท้า แค่พอท่วมข้อเท้า 3 นาที แล้วยกขึ้นจากน้ำอุ่น 1 นาที ทำซ้ำ จนครบ 3 รอบ โดยทำวันละ 1 - 2 ครั้ง

6.3 สวนล้างลำไส้ใหญ่(ดีทอกซ์) สำหรับผู้ป่วยที่อาการหนัก ทำวันละ 1-2 ครั้ง ส่วนคนทั่วไป ทำสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง หรือตามสภาพร่างกาย ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ดีทอกซ์ ได้แก่ ใบเตย 1 ใบ อ่อมแซบ ครึ่ง กำมือ ย่านาง 1-3 ใบ น้ำมะนาว ครึ่ง-1 ช้อนโต๊ะ ใบมะขาม ครึ่ง กำมือ มะขามเปียก 1-3 ฝัก ใบส้มป่อย ครึ่งกำมือ

กาแฟ 1 ช้อนชา เป็นต้น เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกกับร่างกายเรา คือ พอทำแล้วรู้สึกสดชื่น โปร่ง โล่ง สบายตัว วิธีทำ ต้มน้ำสมุนไพรในน้ำเปล่า เดือด 5 นาที แล้วผสมน้ำธรรมดาให้อุ่น หรือใช้ใบสมุนไพรสด ขยี้กับน้ำเปล่า กรองผ่านกระชอน นำน้ำที่ได้ ไปใส่ขวดหรือถุง ที่เป็นชุดสวนล้างลำไส้ โดยทั่วไปใช้น้ำสมุนไพร 500-1,300 ซี.ซี. เปิดน้ำให้วิ่งตามสายเพื่อไล่อากาศออกจากสาย แล้วล๊อคไว้ จากนั้น นำวาสลีนหรือน้ำมันพืชหรือว่านหางจระเข้ ทาที่ปลายสายสวน ประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อหล่อลื่น หรืออาจใช้ปลายสายสวนจุ่มในน้ำก็ได้ ต่อจากนั้น ค่อยๆสอดปลายสายสวนเข้าไปที่รูทวารหนัก สอดให้ลึกเข้าไป ประมาณเท่านิ้วมือเรา(3-5 นิ้วฟุต) ยกหรือแขวนขวดสมุนไพร สูงจากทวาร ประมาณ 2 ศอก ปล่อยน้ำสมุนไพรให้ไหลเข้าไปในลำไส้ใหญ่ของเรา โดยใส่ปริมาณน้ำเท่าที่ร่างกายเราพอทนได้สบาย ใช้มือนวดคลึงที่ท้อง พอปวดอุจจาระก็ไปถ่ายระบายออก เป็นการระบายพิษออกจากร่างกายอีกทางหนึ่ง

สุขภาพดี คือ ของขวัญอันล้ำค่า ที่เรามุ่งหวังอยากให้พี่น้องผองเพื่อนทุกๆท่านได้รับ

“เราทั้งผอง พี่น้องกัน”

ขอขอบคุณหมอเขียว ใจเพชร ในความอนุเคราะห์ด้านข้อมูล

bottom of page